ดอกไม้สำหรับคุณ

บทเพลง สัญาญาก่อนนอน

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ขาเทียม - หุ่นยนต์รดน้ำ โชว์ความสามารถเด็กไทย

ขาเทียมหุ่นยนต์เพื่อคนพิการ และ หุ่นยนต์รดน้ำอัตโนมัติ 2 โครงงานหุ่นยนต์ โชว์ความสามารถของเด็กไทย ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกปี 2554


          ปี 2554 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก โดยจะมีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้กว่า 90 ประเทศ และเป็นเวทีการแข่งขันทางวิชาการระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่สนใจอีกรายการหนึ่ง

          เมื่อเร็วๆนี้   สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)  ได้จัดโครงการ  IPST  ROBOT CONTEST 2010  ขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่สร้างความตระหนักและความตื่นตัวในการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนไทย   โดยหนึ่งในกิจกรรม คือ  การประกวดโครงงานคอมพิวเตอร์
          โครงงานที่อยากแนะนำให้รู้จัก คือ  “โครงงานขาเทียมหุ่นยนต์เพื่อคนพิการ” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงานของ นส.ภัทร์ธีรา  ทุ่งโพธิ์แดง และนส.สุชานันท์  ป้อมบุญมี  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  จากโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จังหวัดพิษณุโลก  และ “โครงงานหุ่นยนต์รดน้ำอัตโนมัติ”   ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ2  ผลงานของ นส.วิจิตรา  จันอุทัย และ นส.จตุพร   นิยมสำรวจ  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย    จากโรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี  จังหวัดอุตรดิตถ์
          “โครงงานขาเทียมหุ่นยนต์เพื่อคนพิการ”  น้องฝ้าย หรือ นส.ภัทร์ธีรา   ทุ่งโพธิ์แดง เล่าถึงแรงบันดาลใจว่า มาจากการที่ได้เห็นหุ่นยนต์ ASIMO ของญี่ปุ่นที่สามารถเดินและวิ่งได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มาก  จึงเกิดข้อสงสัยว่า ในเมื่อหุ่นยนต์ที่เป็นเครื่องจักรยังสามารถเดินได้เหมือนมนุษย์ แล้วทำไมคนพิการที่ขาขาด เขาจะกลับมาเดินเป็นปกติเหมือนกับคนอื่นๆไม่ได้  พอดีมีโครงการของ สสวท.ขึ้นมา  ก็เลยชวนเพื่อนมาช่วยกันทำโครงงานนี้    ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้รางวัลระดับประเทศ  เพราะคิดว่าโครงงานฯยังดีไม่พอ  แต่เมื่อได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ก็ดีใจมาก
           น้องฝ้าย  บอกว่า   ความรู้ที่ต้องนำมาใช้ในการคิดโครงงานนี้ มีอยู่หลากหลายสาขาเป็นการประยุกต์ความรู้ทั้งทางด้าน ฟิสิกส์ ชีววิทยา  คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์  รวมทั้งความรู้ทางวิศวกรรมด้วย แต่หลักๆที่นำมาใช้ในเบื้องต้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ชีวกลศาสตร์ และพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์   โดยได้แนวคิดมาจากท่าทางการเดินของคนที่จะมีการแกว่งแขนสัมพันธ์กับการก้าวขา  จึงนำข้อสังเกตนี้ไปใช้ในการสร้างฟังชันก์ในการเขียนโปรแกรมควบคุมขาเทียมโดยสร้างขาเทียมให้รองรับกับแนวคิดนี้
         “หนูสนใจทางด้านหุ่นยนต์มาก  เพราะตอนเด็กๆคุณแม่พาไปงานที่ ไบเทค ได้เห็นหุ่นยนต์ต่างๆน่าอัศจรรย์มากที่สามารถทำสิ่งต่างๆทดแทนมนุษย์ได้ทั้งๆที่เป็นแค่เพียงเศษชิ้นส่วนเล็กๆ เลยเกิดความสนใจขึ้นมาอยากสร้างหุ่นยนต์บ้าง  แต่ต้องรู้วิธีการสั่งการหุ่นยนต์ก่อน  จากนั้นจึงเริ่มศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ค่ะ”
          น้องฝ้าย ยังบอกอีกว่า  ในอนาคตอยากจะศึกษาในด้านหุ่นยนต์อย่างจริงจัง โดยอยากจะเข้าศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาแมคคาทรอนิกส์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และอยากศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น  เพราะมีชื่อเสียงทางด้านหุ่นยนต์  เพื่อจะได้กลับมาเป็นนักวิจัยที่ประเทศไทยสร้างสรรค์ผลงานที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
          ส่วนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศนั้น  น้องฝ้าย เสนอว่า  การแข่งขันโอลิมปิกฯ ที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีการเผยแพร่ข้อสอบหลังการแข่งขัน คิดว่าถ้ามีการเผยแพร่ข้อสอบจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันได้มีโอกาสทดลองทำข้อสอบ เพื่อว่าคนที่สนใจจะได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถในด้านคอมพิวเตอร์ด้วย
          ด้าน “น้องปู”  นส.สุชานันท์  ป้อมบุญมี  เพื่อนร่วมทีม บอกว่า  การทำขาเทียมหุ่นยนต์ต้องศึกษาจาก  ขาเทียมจริงๆ  ดังนั้นช่วงที่ทำโครงงานจึงไปขอคำปรึกษา คุณลุงประเสริฐ ไมตรีจิตร หัวหน้าห้องกายอุปกรณ์ โรงพยาบาลพุทธชินราช  และพาไปดู พร้อมทั้งคำแนะนำวิธีการทำขาเทียมแบบต่างๆ   จึงได้นำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการทำโครงงานชิ้นนี้
         “ถ้าหนูสามารถพัฒนาต่อจนสำเร็จได้ขาเทียมที่สมบูรณ์แบบแล้ว คิดว่าผู้พิการก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไปได้ มันก็เหมือนกับการคืนชีวิตให้กับคนๆหนึ่ง  หวังว่างานชิ้นนี้เมื่อนำไปใช้ได้จริงแล้วผู้พิการก็จะมีกำลังใจในการมีชีวิตเพื่อสร้างสังคมที่ดีให้กับประเทศชาติต่อไปค่ะ”
           น้องปู ยังบอกอีกว่า  ที่สนใจทางด้านคอมพิวเตอร์เพราะเห็นว่าคอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว แต่ปัจจุบันมีแต่เพียงผู้ที่เสพเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่   มีเพียงน้อยคนนักที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาเทคโนโลยี ให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้นได้ เธอจึงตั้งใจว่าอนาคตอยากจะเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคม
           ด้าน อาจารย์อานนท์  มากมี  อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานฯ  กล่าวเสริมถึงประโยชน์จากการทำโครงงานฯว่า   การที่นักเรียนได้ทำโครงงาน ทำให้นักเรียนมีการวางแผนการทำงาน การเรียนที่เป็นระบบมากขึ้น จากการที่เรียนพิเศษมากมายทำให้ นักเรียนทำงานอย่างมีเหตุผล เห็นความสำคัญในการทำงานมากขึ้นด้วย
           ส่วน “โครงงานหุ่นยนต์รดน้ำต้นไม้”  นส.จตุพร   นิยมสำรวจ  เจ้าของโครงงานฯ เล่าถึงโครงงานชิ้นนี้ว่า   เป็นโครงงานที่คิดต่อยอดจากรุ่นพี่ที่โรงเรียน ซึ่งใช้โปรแกรม IPST MicroBOX หรือ  “ชุดกล่องสมองกล”  ที่ทางโรงเรียนจัดการเรียนการสอนให้  ซึ่งเป็นโปรแกรมควบคุมการทำงานทั้งหมดของหุ่นยนต์ในการตรวจวัดอุณหภูมิ การเคลื่อนที่อย่างอัตโนมัติ และการเตือนน้ำหมด 
          “หนูคิดว่าคอมพิวเตอร์เป็นวิชาที่มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง ข้อแตกต่างนี้ทำให้คอมพิวเตอร์เป็นวิชาที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา  คอมพิวเตอร์ยังเป็นตัวช่วยให้เราได้ค้นพบสิ่งแปลกใหม่ต่างๆในโลกนี้ ทั้งความรู้ทางวิชาการต่างๆ   เพื่อนในต่างประเทศ  รวมถึงการติดต่อสื่อสารได้รวดเร็ว และสะดวกสบายขึ้น”  น้องจตุพร บอกถึงสาเหตุที่เธอสนใจวิชาคอมพิวเตอร์ 
          สำหรับอนาคตที่วางไว้   น้องจตุพร  บอกว่าอยากศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ  เนื่องจากโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจ  จึงชอบเกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจเป็นพิเศษด้วย การทำธุรกิจต่างๆต้องมีการวางแผนการจัดการอย่างเป็นระบบ และถ้าเรามีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการทำงานจะทำให้งานมีประสิทธิภาพ และเป็นระบบมากขึ้น
          ด้าน น้องวิจิตรา   จันอุทัย  เพื่อนร่วมทีม บอกว่า ช่วงที่เริ่มทำโครงงาน เธอและเพื่อน เรียนเกี่ยวกับ โปรแกรม IPST MicroBOx เพื่อใช้สำหรับโครงงานชิ้นนี้  รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ และไม่เบื่อเลย แต่เวลาในการศึกษาเรียนรู้ของวิชานี้น้อยมาก   จึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากอาจารย์ผู้สอน   และยังมีตัวอย่างรุ่นพี่นักเรียนที่ได้ไปแข่งขันหุ่นยนต์ในต่างประเทศ ช่วยจุดประกายความคิดและความฝัน   ดังนั้น จึงสมัครค่าย Hypercube XIX เป็นค่ายอบรมวิชาคอมพิวเตอร์ จัดโดยสถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมก็รู้สึกชอบมากขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มฝึกฝนตัวเองจนได้เข้าประกวดโครงงานในครั้งนี้
          ส่วนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ในปีหน้านั้น  น้องวิจิตรา มองว่า การแข่งขันน่าจะเป็นสิ่งที่จุดประกายความคิดและความฝันให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจในด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อในอนาคตจะได้ร่วมกันพัฒนาประเทศในโลกยุคที่คอมพิวเตอร์เข้ามามีอิทธิพลอย่างสูง  และการแข่งขันยังทำให้มีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไปพร้อมกันด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น