ดอกไม้สำหรับคุณ

บทเพลง สัญาญาก่อนนอน

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คลังหนังสือดิจิทัล ช่องทางอ่านของหนอนหนังสือยุคใหม่

เทรนด์ที่เห็นชัดเจนในอุปกรณ์ดิจิทัลคือ ผู้ใช้จำนานมากเริ่มใช้งานเข้าเว็บอ่านข่าว ดูคลิป ฟังเพลง หรือที่เรียกกันว่า "ดิจิทัล คอนเทนต์"



นึกไม่ถึงว่า หลังจากแอปเปิลเปิดตัวจำหน่ายไอแพดอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว อีกสองอาทิตย์ต่อมาไอแพดขาดตลาด ต้องรอจนช่วงคริสต์มาสถึงเข้ามารอบใหม่
 ที่น่าสนใจคือ ในยุทธภพคอมพิวเตอร์แท็บเลตไม่ได้มีแค่ไอแพดที่เหมือนไอโฟน แต่ไม่มีฟังก์ชันโทรศัพท์ ยังมีซัมซุง กาแลคซี่ แทบ จอ 7 นิ้ว และอีกหลายค่าย อย่าง เดลล์ สตรีก จอ 5 นิ้ว กำลังเข้าคิวรออยู่ สามารถใช้คุยโทรคุยสายและเข้าเน็ตดูหน้าเว็บแบบเต็มจอได้ด้วย
 แนวโน้มที่เห็นชัดเจนอีกประการคือ ผู้ใช้เริ่มใช้งานเข้าเว็บอ่านข่าว ดูคลิป ฟังเพลงจากอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่า "ดิจิทัล คอนเทนต์" มากขึ้นเรื่อยๆ
 สุรัตน์ บัณฑิตลักษณะ กรรมการผู้จัดการบริษัท โพลาร์ เว็บแอปพลิเคชั่น จำกัด วัย 32 ปี มองเห็นรูปแบบชีวิตของคนรุ่นใหม่ติดหนึบอยู่กับมือถือ และไอแพดมากขึ้น และคิดว่า การเปิดร้านหนังสือออนไลน์ถึงเวลาสุกงอมแล้ว เว็บ www.ebooks.in.th คลังหนังสือออนไลน์ที่รวบรวมหนังสือภาษาไทยจึงปรากฏตัวขึ้นมารองรับความต้องการอ่านอีบุ๊กของหนอนหนังสือคนไทย
 ร้านหนังสืออีบุ๊ก และอุปกรณ์อีบุ๊กในต่างประเทศเกิดขึ้นมาก่อนนานแล้ว ยกตัวอย่าง อะเมซอน (amazon.com) นอกจากจำหน่ายหนังสือแล้ว ยังจำหน่ายเครื่องคินเดิลสำหรับอ่านอีบุ๊กด้วย ส่วนค่ายสำนักพิมพ์ บาร์นแอนด์โนเบิลก็ออกอุปกรณ์อ่านที่ชื่อ นุก ด้วยเช่นกัน ฟากญี่ปุ่น โซนี่ รีดเดอร์ คือตัวชูโรง แต่ที่ดังในเมืองไทยคือ ไอแพดของแอปเปิล
 กระแสดังกล่าวทำให้สุรัตน์ตัดสินใจทำคลังหนังสือไทยออนไลน์ รวมถึงพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้หนังสือสามารถเปิดอ่านได้บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างมือถือ ไอโฟน ไอแพด หรือแท็บเลตที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ รวมถึงเพลย์บุ๊กจากค่ายแบล็กเบอร์รี่ ที่เขาเชื่อว่าจะเข้ามาปลุกกระแสการอ่านออนไลน์บ้านเราให้คึกคัก
 “ผมเชื่อว่า อีกไม่นานคนจะพกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตัวมากขึ้น และเริ่มหันมาอ่านหนังสือบนอุปกรณ์พกพาจนเป็นเรื่องปกติ คล้ายกับยุคเริ่มต้นการมาของไอพอด ที่ทำให้รูปแบบการฟังเพลงของคนค่อยๆ เปลี่ยนไป” เขามั่นใจ
 ร้านหนังสือดิจิทัลเคยปรากฏตัวในไทยมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เหตุผลสำคัญเป็นเพราะจำนวนอุปกรณ์พกพายังมีไม่มากพอจนกระตุ้นความต้องการอ่านหนังสือบนอุปกรณ์พกพา อีกทั้งการอ่านอีบุ๊กในคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวอาจไม่สะดวก ทำให้คลังหนังสือดิจิทัลในยุคแรกอยู่ในรูปแบบออฟไลน์มากกว่า
 “การจะทำให้คลังหนังสือเกิดต้องมีระบบที่มากกว่าแจกฟรี คือขายได้ด้วย โดยหนังสือในเวอร์ชั่นออนไลน์ต้องมีราคาต่ำกว่าหนังสือปกเดียวกันที่วางอยู่บนแผง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสามารถทำได้ เพราะหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไม่มีต้นทุนค่าจัดพิมพ์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงสุดของระบบการพิมพ์ ณ ปัจจุบัน” เขาอธิบาย
 ไม่เฉพาะแต่สำนักพิมพ์เท่านั้นที่ใช้ www.ebooks.in.th เป็นช่องทางจำหน่ายหนังสือ เจ้าของผลงานสามารถสมัครสมาชิกและอัพโหลดไฟล์หนังสือที่เป็นพีดีเอฟได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องผ่านสำนักพิมพ์ ผลงานหนังสือจะปรากฏให้คนที่สนใจได้ดาวน์โหลดไปอ่าน เจ้าของผลงาน และสำนักพิมพ์ยังลดต้นทุนค่ากระดาษ และค่าจัดส่งลงได้อีกมากมาย
 อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันโครงการสร้างคลังหนังสือออนไลน์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังไม่เปิดตัวเป็นทางการ แต่ตลอด 1 เดือน ที่ผ่านมา หลังจากเปิดหน้าเว็บ ebooks.in.th มีหนังสือที่ถูกแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลบรรจุอยู่ในคลังแล้ว 300 เล่มจากเครือข่าย เช่น ข่าวและบทความประชาสัมพันธ์จากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร หนังสือจากไอเน็ต ตลอดจนไฟล์อีบุ๊กภาษาไทยที่ถูกรวบรวมจากแหล่งต่างๆ ให้มาปรากฏอยู่ในคลังหนังสือ
 คลังหนังสือซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่แจกฟรีบนเว็บอยู่แล้ว เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มช่องทางการอ่านและเข้าถึงได้มากขึ้น โดยคาดว่าเมื่อแอพพลิเคชั่นอีบุ๊กได้รับการอนุมัติ และปรากฏอยู่ในแอพสโตร์ขอแอปเปิล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เมื่อถึงเวลานั้นบรรยากาศของคลังหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะคึกคักขึ้น
 “สำหรับเรื่องของรายได้นั้น ในปีแรกเรายังไม่ได้หวังกับรายได้มากนัก เพียงแต่อยากให้คนไทยมีแอพพลิเคชั่นอีบุ๊กเป็นมาตรฐานบนเครื่อง ทันทีที่อยากอ่านหนังสือไทยต้องคิดถึงเรา รายได้คงมาในยุคหลังที่ไทยอีบุ๊กเป็นที่รู้จัก และต่อไปหนังสือที่ขายบนแผงอาจจะเปิดตัวพร้อมกับหนังสือในโลกออนไลน์ก็เป็นได้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น