นักวิจัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประยุกต์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี มาพัฒนาเส้นใยมุ้งให้มีคุณสมบัติป้องกันยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ย้อนกลับไปในช่วงปีที่ผ่านมา เชื่อว่าแทบทุกบ้านไม่พลาดที่จะหาซื้อเสื้อเหลืองนาโนมาไว้ในครอบครอง เพราะคุณสมบัติเด่นที่สามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี เรียกว่าหยิบมาใส่ซ้ำก็ไม่ต้องหวั่นว่าจะเกิดกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ วันนี้นาโนเทคโนโลยีกลับมาใหม่ในรูป “มุ้งนาโน” ที่ไม่ได้ป้องกันแบคทีเรีย แต่ป้องกันยุง ไม่ให้เข้าใกล้มุ้งได้ 100%
แม้มุ้งจะถูกออกแบบมาเพื่อกันยุงแต่ก็ต้องยอมรับว่าตื่นเช้ามาทีไรเป็นเป็นเห็นยุงตัวเป้ง นอนนิ่งอยู่ข้างๆ ด้วยความที่บินไม่ไหว หลังจากได้สูบเลือดคนในมุ้งเข้าไปจนพุงป่อง
นั่นเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี นักวิจัยหนุ่มวัย 33 ปี จากศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมนาโนและไบโอพลาสติก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตัดสินใจเดินหน้าประยุกต์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีมาพัฒนาเส้นใยมุ้งให้มีคุณสมบัติกันยุง
แนวคิดนี้โดนใจเจ้าของ บริษัท ไทยเบสเน็ท แมนูแฟคเจอร์ จำกัด ผู้ผลิตมุ้งรายใหญ่ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่เป็นแรงผลักจนทำให้การวิจัยได้เริ่มต้นจริงตั้งแต่ในห้องแล็บไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม
เขา เล่าว่า งานวิจัยเริ่มต้นตั้งแต่เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของยุง จนกระทั่งเข้าใจว่าธรรมชาติของยุงมักจะชอบเกาะอยู่ที่มุ้ง ก่อนที่พวกมันจะใช้หัวมุดแทรกตัวเข้าไประหว่างช่องว่างของเส้นใย ซึ่งวิธีปราบยุงได้ดีที่สุดเห็นทีจะต้องเคลือบสารฆ่ายุงลงบนเส้นใย เพราะในแง่ของการผลิตคงไม่สามารถทอเส้นใยให้มีขนาดเล็กได้มากกว่านี้ได้แล้ว
“ในตอนแรกเรารู้เพียงว่ามีสารเคมีตัวหนึ่งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการไล่ยุง อีกทั้งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างเลียนแบบสารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ” เขากล่าวและบอกว่า งานวิจัยเริ่มต้นจากการนำสารเคมีฆ่ายุงมาเคลือบลงบนเส้นใย ลองผิดลองถูก จนกระทั่งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผสมโดยใช้สารตัวกล่างช่วยในการยึดติดหรือ มาสเตอร์แบทซ์ ลงบนเส้นใยได้สำเร็จ
“สารฆ่ายุงมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาต หลังจากพวกมันใช้ขาทั้ง 2 ข้างเกาะอยู่บนเส้นใยมุ้ง ก่อนที่จะแรกตัวเข้ามา ยิ่งเกาะนานเข้าขาของยุงก็จะเริ่มอ่อนแรง ตกลงที่พื้น หรือบินหนีไป และไม่กล้าเข้าใกล้มุ้งอีกเลย” เจ้าของผลงานกล่าว
เทคนิคดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาคเอกชนทั้งที่ร่วมทำวิจัย โดยเทคนิคเคลือบสารลงบนมุ้งที่ทอเสร็จแล้ว สามารถทนต่อการซักได้ 20 ครั้ง ซึ่งปกติมุ้งจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี จากนั้นเส้นใยพลาสติกก็จะเริ่มกรอบและฉีกขาด
ศักยภาพของของมุ้งฆ่ายุงจากการวิจัยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ที่สนใจขอใช้สิทธิเทคโนโลยี เนื่องจากไม่ต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตมากนัก หรือไม่เกิน 20 % โดยเทคนิคการเคลือบสารลงบนเส้นใย ข้อดีคือทนทานต่อการซักมากกว่า แต่ข้อเสียคือต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับได้ประสิทธิภาพได้ที่นั้นถือว่าคุ้มค่า
“องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชื่อว่าอยู่ได้ไม่เกิน 1-2 ปี เพราะตอนนี้ทั่วโลกให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนาโนเทคโนโลยีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเกาหลี และญี่ปุ่น ที่มีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าหากเราไม่เดินพัฒนาองค์ความรู้เป็นของตัวเอง อีกไม่นานเชื่อว่าเราจะต้องวิ่งตาม หรือนำเข้าเทคโนโลยีเข้ามาอย่างเดียว” เขากล่าวยอมรับ
ด้วยเหตุนี้ทำให้ ดร.ระพีพันธ์ เดินเครื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์มุ้งนาโนในรูปแบบต่างๆ ทั้งมุ้งที่ขายเป็นหลัง และมุ้งเต้นท์พกพา นอนได้ 2-3 คน เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานต่อยอดไปได้เรื่อย จนกระทั่งล่าสุดมีบริษัทเอกชนสนใจร่วมพัฒนามุ้งลวดนาโน ซึ่งเขาเชื่อว่าจะเป็นสินค้าที่โดนใจคนเมือง เจาะเขาไปในตลาดเฉพาะทางมากขึ้น
“ทุกวันนี้คนเมืองไม่กางมุ้งนอน แต่ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องติดมุ้งลวดเอาไว้กันยุง ซึ่งสิ่งที่เห็นจนชินตาคือยุงเกาะติดอยู่ตามมุ้งลวด วิธีการไล่ของยุงของคนเมือง ไม่ถึงขั้นฆ่าให้ตาย แค่ยุงบินมาเกาะไปแล้วหนีไป แค่นั้นคนใช้ก็แฮปปี้แล้ว” เขาออกความเห็น
สิ่งที่นักวิจัยมองว่าน่าจะนำนาโนเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพของมุ้งลวดได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากมุ้งลวดที่ปัจจุบันที่เคยทำจากเส้นใยอลูมิเนียมเริ่มไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากผู้ผลิตหันมาใช้เส้นใยพลาสติก ประเภทโพลิเมอร์และไนลอนแทน ซึ่งให้คุณสมบัติที่ดีกว่า ขณะที่ตัวเขาเองมีความคุ้นเคยกับเส้นใยพลาสติกและสารนาโนเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ดร.ระพีพันธ์ พร้อมด้วยนักวิจัยจากศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมนาโนและไบโอพลาสติกจะยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมที่มีศักยภาพ โดยเปิดรับโจทย์จากภาคเอกชน พร้อมทั้งมองหาไอเดียที่สามารถต่อยอดเป็นโปรดักซ์ใหม่อย่างไม่หยุดนิ่ง
โดยยืนยันว่า “งานวิจัยที่สำเร็จได้ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ Head หรือคนคิด ใครใครก็คิดได้ ด้วยหลักการที่คล้ายกัน แต่ถ้าไม่มี Hand หรือคนที่จะเอางานวิจัยไปต่อยอด และ Hard คือคนที่ทำการตลาด งานวิจัยถึงแม้จะพิสูจน์แล้วก็ไม่มีทางขายได้ หากขาดองค์ประกอบที่กล่าวมาทั้งหมด”